วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เคลียร์!! ความต่างของ GAT PAT, 7 วิชาสามัญ, O-NET


Update ตรงจาก www.dek-d.com ครับ 


วัสดีค่ะ ตอนนี้มีการรับสมัครสอบหลายอย่างค่ะ ไม่ว่าจะเป็น สอบตรง, 7 วิชาสามัญ, กสพท. มีมากันให้วุ่น นอกจากนี้ยังมีระบบการสอบที่สับสนอีกว่า โครงการรับตรงคืออะไร โควตาคืออะไร จะทำแฟ้มสะสมผลงานเพื่ออะไร เกรดเฉลี่ย/เกรดเฉลี่ยสะสม คืออะไร เคลียริ่งเฮ้าส์ แอดมิชชั่น เยอะแยะไปหมดเลย 

           พี่แป้งมั่นใจว่ามีน้องๆ ไม่น้อยเลยที่งง กับคำพวกนี้จนไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องทำอย่างไรดี วันนี้พี่แป้งจะมีเคลียร์ให้เลยค่ะว่าการสอบแต่ละอย่างมีความแตกต่างกันอย่างไร ใช้ในการสอบอะไรได้บ้าง แล้วเราต้องสอบอะไรบ้าง อยากรู้แล้ว ตามมาดูได้เลยค่ะ
 

GAT PAT


          ข้อสอบ GAT PAT เป็นข้อสอบกลางที่จัดสอบโดย สทศ. ค่ะ จะมีตั้งแต่ GAT เป็นความถนัดทั่วไป และ PAT 1-7 เป็นความถนัดเฉพาะแต่ละด้าน ข้อสอบ GAT PAT จะใช้หลากหลายรูปแบบมากค่ะในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบ ข้อสอบจึงมีทั้งส่วนที่ถามตรงๆ และส่วนที่ถามประยุกต์ค่ะ
           ความถนัดของแต่ละวิชาใน PAT ก็จะใช้แตกต่างกัน เช่น ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ (PAT 3) จะใช้สำหรับการสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือ ความถนัดทางวิชาชีพครู (PAT 5) จะใช้สำหรับเข้าคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ค่ะ สามารถเช็คได้ว่าคณะไหนต้องสอบอะไร 
คลิกที่นี่ เลย การสอบ GAT PAT น้อง ๆ จะต้องทำการสมัครเองนะคะ โดยจะเปิดรับสมัครสอบ 2 รอบ ประมาณ ตุลาคม และ มกราคม ค่ะ

 
O-NET


          ข้อสอบ O-NET เป็นข้อสอบกลางอีกอย่างค่ะ แต่เป็นข้อสอบกลางที่บังคับสอบสำหรับน้องๆ ม.6 ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเด็กวิทย์ ศิลป์คำนวณ ศิลป์ภาษา ศิลป์สังคม ต้องสอบหมดค่ะ โดยข้อสอบจะไม่ออกเกินหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแน่นอน ไม่มีประยุกต์เท่ากับข้อสอบ GAT PAT ค่ะ การสอบ O-NET นั้น น้องๆ ม.6 ไม่ต้องสมัครนะคะ ทางโรงเรียนที่น้องๆ เรียนอยู่จะเป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมดค่ะ
           
ส่วนน้อง ๆ เทียบเท่า ม.6 (ปวช., ดุริยางค์ฯ, นาฏศิลป์ฯ, กศน.) ถ้าจะสอบต้องทำการสมัครสอบเองค่ะ สมัครในปีที่ตัวเองจะจบเทียบเท่า ม.6 ค่ะ โดยการเปิดรับสมัครจะเปิดรับช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ที่สำคัญ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้าน้องๆ คนไหนอยากเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องสอบ O-NET ด้วย แต่ถ้าไม่เข้าจะเรียนต่อตามสายที่เรียนมาก็ไม่ต้องสอบก็ได้ค่ะ ไม่ได้บังคับสำหรับน้องๆ เทียบเท่า ม.6

 
7 วิชาสามัญ


           วิชาสามัญเป็นอีกหนึ่งการสอบที่เกิดขึ้นควบคู่มากับโครงการรับตรงเคลียริ่งเฮ้าส์ เนื่องจากเห็นว่าการสอบตรงควรเป็นการสอบแบบกลาง จึงมีการจัดข้อสอบกลางมาเพื่อให้การรับตรงเป็นมาตรฐานมากขึ้น โดยวิชาสามัญมีทั้งหมด 7 วิชาค่ะ คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษและสังคมศึกษาค่ะ
            ระดับความยากถ้าเทียบกับ O-NET และ GAT PAT คือ 7 วิชาสามัญจะง่ายกว่า GAT PAT ค่ะ แต่ว่ายากกว่า O-NET จำนวนข้อสอบและคะแนนจะน้อยกว่า GAT PAT
 โดย 7 วิชาสามัญจะคิดคะแนนวิชาละ 100 คะแนน ต่างกับ GAT PAT ที่เป็นวิชาละ 300 คะแนนค่ะ การสมัครสอบ 7 วิชาสามัญสมัครได้ที่เว็บเดียวกันกับการสมัคร GAT PAT เลยค่ะ ^_^
 

 
กสพท.


           กสพท. เป็นการสอบเฉพาะน้องๆ ที่อยากเข้าคณะแพทยศาสตร์ - ทันตแพทยศาสตร์ เป็นการร่วมมือกันของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย คือการรับตรงเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ - ทันตแพทยศาสตร์ เท่านั้น โดยการสอบ กสพท. เป็นการสอบที่ไม่ใช้เกรดเฉลี่ยค่ะ น้องๆ มีเกรดน้อยเกรดมากก็สามารถสมัครสอบได้ วัดกันที่ข้อสอบล้วนๆ โดยข้อสอบของ กสพท. จะประกอบไปด้วยวิชาความถนัดทางแพทย์ และ วิชาสามัญครบทั้ง 7 วิชาค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าน้องๆ อยากเข้า คณะแพทยศาสตร์ - ทันตแพทยศาสตร์ ต้องสมัครสอบ 7 วิชาสามัญทุกวิชา และสมัครสอบ กสพท. ค่ะ ในการเข้าคณะแพทยศาสตร์จะไม่มีการเปิดในรอบแอดมิชชั่นนะคะ มีเฉพาะรอบ กสพท. และการสอบตรงของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ในคณะทันตแพทยศาสตร์ยังมีเปิดรับรอบแอดมิชชั่นอยู่ค่ะ แต่ที่นั่งน้อยมากๆ T_T

 
สอบตรง (จัดสอบเอง)

    
           การสอบตรงที่ทางมหาวิทยาลัยจัดสอบเอง เป็นการเดาข้อสอบที่ยากที่สุดเลยค่ะ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีการคัดเลือกที่แตกต่างกัน บางมหาวิทยาลัยเป็นรูปแบบข้อสอบเขียนสบายๆ ถามมาตอบไป บางมหา'ลัยต้องเขียนวิเคราะห์ วาดรูป แสดงความสามารถพิเศษ บางมหา'ลัยสอบแต่แบบปรนัย เป็นต้น สิ่งนึงที่เราจะหาข้อมูลได้คือจากรุ่นพี่ที่ได้สอบเข้าไปหา หรือเป็นแนว ๆ ของหนังสือแต่ละบมหาวิทยาลัยก็ได้ แต่ก็ไม่ค่อยมีมาตรฐานแต่ละปีค่ะ แล้วแต่ผู้ออกข้อสอบ แต่ทุกมหา'ลัยจะเหมือนกันอย่างนึงคือ ถ้าข้อสอบข้อเขียนง่าย สอบสัมภาษณ์จะโหดมาก แต่ถ้าสอบข้อเขียนยาก สอบสัมภาษณ์จะชิว ๆ แล้วค่ะ เว้นแต่ว่าจะเจอแบบยากทั้งคู่ อันนี้บอกเลยว่าแล้วแต่บุญแต่กรรมค่ะ การอ่านเพื่อเตรียมตัวสอบ GAT PAT , O-NET หรือ 7 วิชาสามัญก็ช่วยได้ระดับนึงแล้วค่ะ


 
เกรดเฉลี่ย


           เกรดเฉลี่ย หรือ GPA คือเกรดแต่ละวิชา จะเป็นวิชาเดียว หรือหลายๆ วิชารวมกันก็ได้ อาทิเช่น ข้อกำหนดไว้ว่า ต้องมี GPA รายวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แต่ละชุดวิชาไม่ต่ำกว่า 2.50 --> เราต้องดึงเกรดเฉพาะในกลุ่มวิชาที่กำหนดออกมาก่อน ถ้าคณิตศาสตร์มีทั้งคณิตหลักและคณิตเสริมก็ต้องเอามาหมดค่ะ แต่ถ้ามีแค่คณิตหลักอย่างเดียวก็เอามาแค่นั้นค่ะ
           ในส่วนของวิทยาศาสตร์ก็คือทุกวิชาของวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นสายวิทย์ก็เอามาทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เลยค่ะ ถ้าเป็นสายศิลป์ ก็เอามาแค่วิทยาศาสตร์ทั่วไป ภาษาอังกฤษก็ใช้หลักการเดียวกันค่ะ เมื่อได้เกรดมาครบทุกตัวแล้ว งานต่อไปคือการคิดว่าเกรดเฉลี่ยแต่ละวิชาคือเท่าไหร่ โดยวิธีคือ ผลรวมของ เกรดแต่ละตัวคูณหน่วยกินแต่ละตัว แล้วก็หารด้วยผลรวมของหน่วยกิตทั้งหมดค่ะ ถ้างงๆ เข้าไปดูได้เลยที่ 
"How To : วิธีคิดเกรด ม.ปลาย (ใช้สอบตรง และแอดมิชชั่น)" 

 
เกรดเฉลี่ยสะสม


          เกรดเฉลี่ยสะสม คล้ายๆ เกรดเฉลี่ยเลย แต่ต่างกันที่ เกรดเฉลี่ยจะคิดเป็นรายวิชา หรือ หลายๆ วิชารวมกัน เช่น เกรดเฉลี่ยของสังคมฯ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เราก็เอามารวมกันได้ แต่เมื่อรวมทุกวิชาเมื่อไหร่ มันจะแปลงร่างเป็นเกรดเฉลี่ยสะสมหรือ GPAX ทันทีค่ะ จำง่าย ๆ ก็คือ เกรดเฉลี่ยสะสมคือเกรดรวมของทุกเทอม ทุกวิชา ตั้งแต่ ม.4-6 แต่เกรดเฉลี่ยจะแยกเป็นวิชาไปค่ะ ปกติในใบเกรดจะมีบอกอยู่แล้วว่าอันไหนเกรดเฉลี่ย อันไหนเกรดเฉลี่ยสะสม ไม่ต้องเป็นห่วงนะคะ

 

 
 >> รูปแบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย


โครงการรับตรง

          โครงการรับตรง เป็นการรับตรงแบบยื่นคะแนนกลาง คือไม่ต้องไปสอบข้อเขียนของมหาวิทยาลัย ก็ใช้เป็นคะแนน GAT PAT, 7 วิชาสามัญ, คะแนนสอบอื่น ๆ เช่น CU-TEP , TU-GET, TOEFL, SMART I เป็นต้นค่ะ แล้วแต่ว่าทางคณะที่เราจะสอบเข้าต้องการอะไรบ้าง อย่างเช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จะเรียกคะแนน GAT PAT 1 PAT 3 หรือ บางโครงการเช่น อักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะเรียกทั้ง GAT PAT 1 หรือ PAT 7 และ วิชาสามัญ 3 วิชาคือ ไทย อังกฤษ สังคม คะ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ก่อนว่าคณะที่เราอยากเข้าต้องสอบอะไรบ้าง โดยสามารถหาข้อมูลจากปีก่อนๆ ได้ค่ะ แต่โดยปกติแล้วระเบียบการรับตรงของมหาวิทยาลัยจะออกก่อนการเปิดรับสมัครสอบ GAT PAT , 7 วิชาสามัญอยู่แล้วค่ะ ขอแค่ตามข่าวเรื่อยๆ ก็พอ


โครงการสอบตรง

          โครงการสอบตรงเป็นโครงการที่ทางมหาวิทยาลัยจะจัดสอบข้อเขียนเอง ไม่ใช้วิชากลางอย่างพวก GAT PAT, 7 วิชาสามัญ ค่ะ เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัวไปสอบดีๆ โดยส่วนใหญ่ โครงการสอบตรงระดับความยากของข้อสอบจะไม่ยากเท่า GAT PAT แต่ว่าการสอบสัมภาษณ์นี่โหดมากค่ะ ถ้าที่ไหนเรียก Portfolio ด้วย นี่ต้องจัดเต็มเลยค่ะ บางโครงการให้คะแนนสอบสัมภาษณ์มากกว่าสอบข้อเขียนอีก อันนี้มหาวิทยาลัยคัดเลือกเองล้วนๆ ก่อนสอบก็อย่าลืมไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัยด้วยนะคะ เพื่อความเป็นสิริมงคล
 


โควตา

          โควตาคืออีกรูปแบบการรับตรงค่ะ แต่โควตาจะเป็นจำกัดสิทธิ์ มีทั้งแบบเรียกคะแนนกลางอย่าง GAT PAT, 7 วิชาสามัญ หรือแบบสอบข้อเขียนเองก็ได้ แต่โควตาจะต่างจะแบบปกติคือ จะมีการกำหนดลักษณะพิเศษไว้ค่ะ เช่น โควตาพื้นที่เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้, โควตา 17 จังหวัดเหนือ, โควตา 12 จังหวัดภาคตะวันออก, โควตาเฉพาะ นร. สสวท., โควตากีฬา, โควตาโอลิมปิก, โควตาเฉพาะนักเรียนโรงเรียนสาธิฯ เป็นต้น เป็นการจำกัดเฉพาะกลุ่มค่ะ ถ้าคุณสมบัติเราได้ก็สมัครได้เลย


เคลียริ่งเฮ้าส์
   
          เคลียริ่งเฮาส์เกิดจากการที่อยากให้การสอบตรงมาตรฐาน และไม่มีการกั๊กที่ค่ะ แต่ก่อนการสอบตรงจะเป็นการสอบได้แบบไม่จำกัด ถ้าติดที่ได้ก็สำรองไว้ได้ แล้วก็รอรอบแอดมิชชั่น เมื่อแอดฯติดคณะที่อยากได้ก็ไปสละสิทธิ์ที่สอบตรงไว้ เหมือนทางโครงการรับตรงนั้นก็เสียที่นั่งไปฟรีๆ  เพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ เลยมีระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ขึ้นเพื่อให้น้องๆ เลือกไปเลยว่าจะเลือกรอบรับตรงหรือแอดมิชชั่น ถ้าเลือกรับตรงจะไม่มีสิทธิ์แอดมิชชั่น แต่ถ้าเลือกแอดมิชชั่นจะถูกตัดสิทธิ์รับตรงที่สอบติดทันทีค่ะ เพื่อให้เก้าอี้ที่ว่างไปรวมในรอบแอดมิชชั่นได้ ถ้าอยากรู้ละเอียดเกี่ยวกับเคลียริ่งเฮ้าส์ ไปเลยที่ 
"เคลียริ่งเฮาส์" เรื่องไม่เล็ก ที่เด็ก ม.6 ต้องรู้!! 


แอดมิชชั่น
  
         ไฮไลท์ของการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยก็คือรอบแอดมิชชั่นนี่แหละค่ะ เป็นการยื่ยคะแนนอย่างเดียวเลย ติดไม่ติดวัดกันที่คะแนนเลยค่ะ โดยน้องๆ สามารถเช็คสัดส่วนของแต่ะลคณะในรอบแอดมิชชั่นได้ที่ 
"ม.6 อ่านด่วน!! สอท.เผยสัดส่วนแอดมิชชั่นปี 57 (ปรับใหม่) " ประมาณเดือนมิถุนายน ปี 57 เราก็สมัครแอดมิชชั่นโดยการเลือกคณะที่เราอยากเข้า 4 อันดับค่ะ โดยต้องดูด้วยว่าแต่ละอันดับที่เราเลือกใช้คะแนนอะไรบ้าง เรามีหรือไม่ เช่น จะเข้าคณะนิเทศศาสตร์ เลือกรูปแบบวิทยาศาสตร์ ต้องใช้ GAT กับ PAT 1 แต่เราไม่มี PAT 1 มีแต่ PAT 2 ถึงคะแนนจะถึงแต่ก็ไม่ติดคณะนิเทศศาสตร์นะคะ เพราะว่าคุณสมบัติไม่พอ เพราะฉะนั้นเช็คดี ๆ ดีกว่าว่าใช้อะไรบ้าง จะได้ไม่พลาดค่ะ
 


 


          เป็นไงบ้างคะ? พี่แป้งว่าน้องคงเคลียร์ไปได้เยอะเลยล่ะสำหรับการสอบ ในช่วงเวลา 1 ปีสำหรับการเป็นเด็กแอดฯแต่ละรุ่นนั้น จะมีกิจกรรมให้ทำตลอดปีค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสอบโน้น สมัครนี่ เตรียมทำกิจกรรมที่โรงเรียน การบ้านก็เยอะ เรียนพิเศษ บลา ๆ ๆ ช่วงเวลาของเด็กอายุ 17-18 ปีจะหายไปเยอะเลยค่ะ และมีคำเดียวง่าย ๆ สั้น ๆ เลยคือ "เหนื่อย!!" แต่เพื่อแลกกับอนาคตพี่แป้งว่าคุ้มนะคะ

          .... มาแชร์กันดีกว่า 
อะไรที่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยที่สุดกับชีวิตการเป็นเด็กแอดฯ 57 ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการสอบ กิจกรรม เพื่อน ครอบครัว พ่อแม่ ได้หมดค่ะ มาแชร์และเป็นกำลังใจให้กันนะคะ ^____^

Credits ขอบคุณข้อมูล : www.dek-d.com ครับ 

มาพูดคุยสนทนา Follow มาได้นะครับ 

Twitter


























@Kanaz000 or https://twitter.com/Kanaz000 ครับ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น