วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

8 ขั้นตอนเจรจา "เมื่อเลือกคณะไม่ตรงใจพ่อแม่"

Update ตรงจาก www.dek-d.com ครับ 



ใครที่โชคดีพ่อแม่ให้อิสระในการเลือกเรียน หรือเห็นพ้องต้องกันกับครอบครัวในการเลือกเรียน แถมคะแนนก็ถึงพอยื่นคณะได้ ก็สุดยอดสุดไปเลยนะคะ พี่เกียรติยินดีด้วยจ้ แต่ถ้าใครยังอึดอัดใจเพราะพ่อแม่ไม่เห็นด้วยกับคณะที่เรา อยากเลือกเรียน วิธีเดียวที่จะทำให้เราสามารถเลือกเรียนในคณะและมหาวิทยาลัยที่เราต้องการได้อย่างสบายใจที่สุด คือ การอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการเรียนและเป็นในอนาคตค่ะ  

แต่สิ่งแรกที่พี่เกียรติขอให้น้องๆ ทบทวนให้แน่ใจเสียก่อนก็คือ คณะและมหาวิทยาลัยที่เราอยากเลือกนั้น เป็นคณะที่เราต้องการเรียน และเลี้ยงชีพเราได้ในอนาคตจริงๆหรือเปล่า หากมั่นใจแล้วก็เตรียมการเจรจาตามวิธีต่อไปนี้เลยจ้า

1. หาข้อมูลของคณะ/มหาวิทยาลัยที่เราอยากเรียน              
             เราต้องรู้ว่าคณะที่เราสนใจเรียนวิชาอะไรบ้าง  เรียนจบไปแล้วสายตรงเป็นอะไร แล้วสาขาประยุกต์ไปทำอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มคณะที่ไม่เฉพาะเจาะจงอาชีพชัดเจนนัก เช่น จบรัฐศาสตร์การปกครอง ไปเป็นปลัดอำเภอได้ แต่นอกจากนี้ก็ยังไปทำงานบริษัทสาย HR ได้  ทำได้ทั้งสายราชการและสายเอกชน ถ้าเป็นไปได้เตรียมข้อมูลคนที่จบไปแล้ว พอมีชื่อเสียง และพ่อแม่เรารู้จัก เผื่อไว้อ้างอิงด้วยก็ดี  เพื่อนพี่เกียรติถึงขั้นเอาประกาศหางานไปให้แม่ดูนะ ฮ่าๆ

          เราต้องเข้าใจด้วยว่า บางคณะเป็นกลุ่มวิชาชีพไม่เฉพาะทางนัก (เช่น ภาษา ดนตรี ศิลปะ) ซึ่งไม่ค่อยมั่นคงในสายตาพ่อแม่นัก เราต้องมีข้อมูลที่หนักแน่นค่ะ
        
            น้องๆ อาจจะคิดว่าข้อมูลเหล่านี้ใครๆ ก็รู้กันอยู่แล้ว พ่อแม่ก็รู้ เราจะต้องบอกอีกทำไม อย่างรัฐศาสตร์เรียนไปเป็นนายอำเภอหรือนักการทูตได้ แต่ผู้ปกครองอาจมองว่ามันแคบเกินไป นายอำเภอก็ไม่ได้เป็นง่ายๆ นักการทูตก็ยากยิ่งกว่า แต่ถ้าเราอธิบายให้พ่อแม่ทราบได้ชัดเจน เช่น

            "สมมติว่าจบแล้ว หนูยังสอบราชการไม่ได้ จะทำงานเอกชนอย่างสาย HR ไปก่อน มีบริษัทเปิดรับด้านนี้เยอะนะคะ ระหว่างนั้นจะอ่านหนังสือสอบราชการไปด้วยค่ะ แล้วหนูอาจจะรับแปลหนังสือไปด้วยค่ะ"


          เราต้องอธิบายให้ท่านรู้สึกว่า เราได้วางแผนไว้อย่างรอบคอบแล้วจริงๆ แม้ระหว่างทางอาชีพของเราจะขรุขระบ้าง แต่เราก็จะสามารถดูแลตัวเองได้ หากเกิดอะไรขึ้นค่ะ
         ส่วนการหาข้อมูลมหาวิทยาลัยที่เราอยากไปเรียน กรณีนี้จำเป็นมากๆ สำหรับน้องๆ ที่อยากไปเรียนไกลบ้าน อยากไปอยู่หอ หรือกรณีอื่นๆ ที่พ่อแม่ไม่ชอบมหาวิทยาลัยที่เราต้องการเลือก เราต้องหาข้อมูล เช่น มหาวิทยาลัยนี้โดดเด่นด้านในคณะที่เราเลือกมากๆ (แต่พ่อแม่อาจไม่ทราบ) ถ้าไปอยู่หอ...ต้องอยู่อย่างไร มีหอในไหม สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ที่สำคัญอย่าลืมประมาณการณ์สถานะทางการเงินของบ้านตัวเองด้วยค่ะ             

         ย้ำ! เหตุผลที่ว่า "หนูอยากเรียน ถ้าได้เรียนสิ่งที่ชอบ หนูก็จะมีความสุขในการเรียนไม่เพียงพอนะ! ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ไม่อยากให้เรามีความสุขในการเรียนนะคะ แต่เพราะความสุขในการเรียนเพียงอย่างเดียว มันไม่การันตีว่าจะสร้างอาชีพให้เราได้ค่ะ พวกเราวัยรุ่นมักมองมุมต่างจากผู้ใหญ่  พวกเราอาจจะมองไปที่ความสุข 4 ปีลั่นล้าในมหาวิทยาลัยที่พ่อแม่ให้อิสระ แต่พ่อแม่มองเรายาวไปถึงการมีอาชีพ หรือมีหลานมีเหลนโน้นเลย พวกท่านมองไปถึงว่า...สักวันที่ไม่มีพวกท่านแล้ว น้องๆ จะอยู่อย่างไร จะเลี้ยงชีพได้ไหมเลยล่ะค่ะ เพราะฉะนั้นข้อมูลเหล่านี้จึงจำเป็นมากๆ ค่ะ 




2. เตรียมคำพูด คำตอบ 
           เราเตรียมรายละเอียดของสิ่งที่เราจะอธิบายกับพ่อแม่มาแล้วเต็มที่ แต่ถ้าเราไม่เตรียมที่จะตอบเลย เราอาจจะแป้ก ไปไม่ถูกกับคำถามของพ่อแม่ก็ได้นะคะ ยิ่งในสถานการณ์นี้ เชื่อได้ว่าพ่อแม่ต้องถามเรากลับในทำนองที่ว่า "ถ้าเป็นอย่างนั้น จะจัดการอย่างไร" แน่นอน เช่น  ถ้าไปอยู่คนเดียวแล้วจะดูแลตัวเองได้ไหม ถ้าตกงานจะทำยังไง  โดยจะเป็นการถามกลับจากสิ่งที่เราอธิบายท่านค่ะ ดังนั้นลองคาดการณ์คำถามต่างๆ แล้วลองคิดคำตอบดูเผื่อไว้ก็ดีค่ะ


คำถามตัวอย่าง คาดการณ์สถานการณ์
-
ถ้าเลือกไปสี่อันดับแบบนั้น แล้วสอบไม่ติดจะทำอย่างไร
-
สถาปัตย์มันยากนะ ลูกไม่เก่งวาดรูปซะหน่อย ถ้าเรียนไม่จบจะทำอย่างไร
-
เรียนอักษรจบไป จะทำมาหากินอะไร เรียนนิติยังเป็นทนายได้นะ
-
เรียนนิเทศจะไปอยู่วงการบันเทิงหรือไง หน้าตาก็ไม่ได้ดี มันไม่ง่ายเหมือนใจคิดหรอกนะ
-
เรียนเภสัช ก็เป็นนักเขียนได้ เภสัชกรที่เป็นนักแต่งนิยายมีเยอะแยะไป ไม่เห็นต้องไปเรียนคณะที่มีแต่ภาษา ไม่มีวิชาชีพเลย จะไปทำอะไรกิน
-
คณะนี้มีตั้งหลายมหาวิทยาลัย แล้วคะแนนเราถึงมหาวิทยาลัยตอกต๋อย จบไปแล้วจะสู้คนอื่นได้หรือ
-
พยาบาลเรียนไปทำไม เป็นขี้ข้าหมอหรือ เอาเภสัชไปเถอะ เปิดร้านก็ได้
-
เรียนบริหารดีกว่า จบมาทำงานกับพ่อ ไม่ต้องไปทนใช้ทุนหลายๆ ปีหรอก
-
เรียนคอมพิวเตอร์ มันก็เห่อไปตามเรื่องตามราว คนจบออกเยอะแยะ แกมันไม่ได้เก่งจริงๆ ด้านนี้หรอก
-
ไปไกลๆ ลูกจะดูแลตัวเองได้ไหม อยู่นี่ก็มีคนทำให้ดีแล้ว ไม่ต้องลำบาก
-
นี่ไปเรียนตามเพื่อน/ตามแฟนหรือเปล่า จะไปอยู่หอกับแฟนใช่ไหม  ฯลฯ"

         

        น้องๆ อาจเจอคำแรงๆ ที่เข้าข่ายดูถูกตัวเรา หรือมีอคติกับคณะที่เราสนใจ อย่าเพิ่งโกรธนะคะ บางทีอาจเป็นแค่การลองใจเฉยๆ ก็ได้ค่ะ
เตรียมที่จะตอบคำถามแนวๆ นี้ให้ได้ดีกว่าค่ะ จะให้เพื่อนช่วยคิดสิ่งที่น่าจะถูกถามก็ได้นะ เผื่อเราคิดไม่กว้างพอ ช่วยๆ กันจ้า
         แต่อย่างไรก็ต้องพยายามคิดคำตอบด้วยตัวเองนะ เพราะเงื่อนไขของแต่ละคนต่างกัน ที่สำคัญหากคำตอบมาจากน้องๆ เอง ย่อมเป็นคำตอบที่ดีกว่า จริงใจกว่า และทำได้จริงมากกว่าคำตอบที่คนอื่นๆ คิดให้แน่นอนค่ะ


3. ตั้งใจรับฟังสิ่งที่ผู้ปกครองพูดให้ดี 
           
การเจรจากันแบบนี้คล้ายการโต้วาทีอยู่นะคะ คือ ต้องมีการหักล้างคำพูดและคำถามของอีกฝ่ายให้ได้ และหากตอบโต้ไม่ได้ในเวลาที่กำหนดก็จบ (ไม่ทันกำหนดยื่นคณะ) แต่ก็ต้องโต้แบบนิ่มๆ ไม่ใส่อารมณ์ ดังนั้นเราจึงต้องฟังสิ่งที่พ่อแม่พูด และนำมาประเมินตัวเองด้วย หากพ่อแม่มีเหตุผลเราก็รับฟัง จริงๆ เหตุผลพ่อแม่ก็อาจดีมาก และเราพอยอมรับได้ก็ได้  เราอาจได้ถอยกันครึ่งก้าวหรือพบกันครึ่งทางที่ดีกว่า ต่างไม่ยอมกันและกันเนอะ


4. รู้จักตอบรับ และรู้จักยื่นข้อเสนออันหนักแน่น
           
จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ไม่สามารถปิดกั้นความคิดลูกตัวเองได้ตลอดไปหรออกค่ะ เพียงแต่เราต้องรู้จักประนีประนอมบ้าง ถ้าตัวเรายอมพ่อแม่บ้าง เข้าใจว่าท่านห่วงเราเรื่องอะไร ยอมถอยครึ่งก้าว ตอบรับคำพ่อแม่บ้าง ก็จะทำให้พ่อแม่วางใจเรามากขึ้น  แล้วเราก็ลองยื่นข้อเสนอ/ข้อแลกเปลี่ยน หรือข้อสัญญาว่าจะทำบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้นของเราดูค่ะ หากข้อเสนอของเราประกอบกับการรับคำของพ่อแม่มั่นคงพอ ก็จะยิ่งทำให้พ่อแม่เชื่อมั่นในตัวเราขึ้นค่ะ ประเด็นสำคัญคือ (1)รู้ว่าพ่อแม่ห่วงอะไร (2)พ่อแม่ต้องการให้เราทำอะไร และ(3)เราจะทำอะไรให้ท่านเชื่อในตัวเรา เช่น


           "ลูกรู้ว่าพ่อกลัวว่าลูกจะจบไปไม่มีงานทำ แต่ขอให้ลูกได้เรียนคณะวิทย์เถอะ ลูกสนใจด้านเคมีนี้จริงๆ ลูกจะเรียนให้ดีค่ะ เกรดไม่ต่ำว่า 3.5 เลย และถ้าหลังจบลูกไม่ได้ทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อหรือหางานทำไม่ได้ใน 1 ปี ลูกจะไปทำงานบริษัทพ่อทันทีนะคะ"

ตัวอย่างแรกนี้ คือ (1)รู้ว่าพ่อห่วงเรื่องไม่มีงานทำ แต่ก็ให้ความมั่นใจกับพ่อว่า(3)จะทำให้ได้สัญญาว่าจะเรียนให้ดี จะให้ได้ทุนหรือหางานให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้(2)ก็จะไปทำงานที่บริษัทพ่อตามที่พ่อต้องการ (ต่อไปจะใส่เลขอธิบาย เพื่ออธิบายแต่ละประเด็นในประโยคตัวอย่างเลยนะคะ)

       "ผมรู้ว่า(1)พ่อเป็นห่วงที่ผมเรียนไม่ค่อยเก่ง แต่ถึงผลจะเรียนไม่เก่ง แต่ผมก็ถนัดด้านวาดรูปจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าผมได้เรียนในคณะนี้ (3)ผมเชื่อว่าผมจะสามารถทำงานได้ดี ผมจะทำให้พ่อมั่นใจผมมากขึ้น ผมจะเรียนให้ถึง 3.00 ครับ หากไม่ได้จริงๆ (2)ผมจะซิ่วมาเรียนคณะที่พ่อต้องการ

    "ลูกรู้ว่า(1)แม่ไม่อยากให้ลูกไปเรียนไกลๆ งั้นลูกจะ(2)เลือกมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน แต่ใน(3)คณะที่คะแนนลูกถึงและคณะที่ลูกมั่นใจว่าจะไปได้ดีในอนาคตนะคะ"

      "ที่ผ่านมาผมอาจเป็นลูกที่ดูทำอะไรไม่เป็น(1) ต้องคอยให้พ่อแม่เคี่ยวเข็ญเสมอ  แถมยังแอบเกเรด้วย แต่ขอให้(3)พ่อแม่วางใจในตัวผมในครั้งนี้ ผมจะใช้โอกาสนี้เลือกในสิ่งที่ผมมั่นใจว่าจะช่วยให้ผมเติบโต ผมจะตั้งใจเรียนไม่ให้ต่ำกว่า 3 โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องปากเปียกปากแฉะบ่นผมอีก ผมจะไม่กินเหล้าเมายาหลงระเริงกับชีวิตมหาวิทยาลัยไกลบ้าน ผมมั่นว่าผมเลือกในสิ่งที่ผมถนัดและตั้งใจจะเลือกเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวในอนาคตครับ


        ซึ่งตอนที่เราให้สัญญานี้ เราต้องชัดเจน ตาสบตา มีท่าทีมั่นใจนะ อย่ามาอ้ำอึ้งกลัวทำไม่ได้เสียเองล่ะ และเมื่อยื่นเสนอแล้ว ก็ต้องทำให้เห็นผลจริงๆ ด้วย  



5. พึงระงับอารมณ์ตลอดการเจรจา
           คนเราทุกคนปกติก็จะเอนเอียงเข้าข้างความคิดตัวเองมากกว่าอยู่แล้ว แม้ความคิดอีกฝ่ายจะมีเหตุผลที่ดีก็ตาม และวัยรุ่นส่วนใหญ่ก็มักมีอคติกับความคิดของผู้ใหญ่ฝังอยู่ในเซลล์จิตใจเหมือนๆ กันทั้งโลกอยู่แล้วด้วย (ฮา) เพราะฉะนั้นวัยรุ่นต้องระวังระงับอารมณ์ ลดความขี้รำคาญลงให้มากที่สุดค่ะ ไม่ใช้คำหวนๆ ย้อนพ่อแม่ และคำประชดประชันทั้งหลาย สมมติว่าโกรธแล้ว โกรธจริงๆ ระงับไม่อยู่แล้ว ต้องบอกและขอออกไประงับอารมณ์ก่อนค่ะ "หนู/ผมรู้สึกโกรธมาก ผมขอพักไปดื่มน้ำให้ใจเย็นนิดนึงนะครับ

     ย้ำ!!  มีคำไม่ควรพูดหลายคำ เพราะทำให้ผู้ใหญ่ยิ่งไม่พอใจ เพราะฉะนั้นคำดังกล่าวต่อไปนี้ งด ใช้ไปเลยค่ะ 
ห้ามพูดเด็ดขาด
เพราะมันก็โดนตัวเองหมด...
"พ่อแม่ ไม่เข้าใจผมเลย
จริงๆ แล้ว แม้แต่ตัวเราก็ไม่สามารถเข้าใจตัวเองได้ดีที่สุดตลอดเวลาหรอก ไม่งั้นเราจะมีช่วงที่สับสนลังเลกันทำไม 
"ทำไมต้องบังคับผมด้วย"
ไม่มีใครที่ไม่อยากให้คนอื่นทำตามใจตัวเองหรอก
"ผมโตแล้วนะ ทำไมไม่ปล่อยบ้าง
ไม่มีลูกคนไหนที่โตไปกว่าพ่อแม่ตัวเองแน่นอน
"พ่อแม่ก็ดีแต่สั่งๆ ไม่เคยฟังเหตุผลของผมหรอก"
คนเราเวลาโกรธจนถึงที่สุด ก็ล้วนไม่ฟังเหตุผลซึ่งกันและกันทั้งนั้นค่ะ




6. อย่าลืมดูสไตล์ผู้ปกครองของเรา
         
คนเรามีลักษณะแตกต่างกัน ดังนั้นก็ต้องมีเรื่องที่พ่อแม่เราชอบหรือไม่ชอบ พวกเราน่าจะพอสังเกตกันได้ เช่น พ่อไม่ชอบคนพูดเยอะ ไม่ทนฟังอะไรยาวๆ เราก็อย่าเกริ่นอ้อมค้อม ให้รีบชี้แจงแบบไม่ต้องชักแม่น้ำทั้งฟ้าไปเลย แม่ติดละครมาก ไม่ควรรบกวนแม่เวลาละคร พ่อชอบหลักการมาก ดังนั้นจึงยกสถิติของการมีงานทำของรุ่นพี่ในคณะที่สนใจมาประกอบการอธิบายเลย เป็นต้นค่ะ


7. เลือกเวลานั่งคุยกับท่าน 
         
บอกท่านว่าเราอยากขอเวลาคุยเรื่องการเลือกคณะที่เรียน ขอเวลาสะดวกๆ ของท่าน ถามเวลาที่ผู้ปกครองสะดวกก็ได้ ให้น้องๆ พิจารณาว่าช่วงเวลาไหนเหมาะสม เพราะเวลาของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกันเนอะ แต่เวลาทั่วไปที่คนเลือกใช้คุยกันสบายๆ ผ่อนคลายที่สุด มักเป็นเวลาช่วงหลังกินอาหารเย็นแล้วค่ะ ส่วนอยากจะคุยคนเดียวหรือหาพันธมิตรอย่างพี่สาว พี่ชายไปด้วย ซึ่งเป็นคนที่(น่าจะ)เห็นด้วย และอายุมากกว่าเรา ก็แล้วแต่การตัดสินใจค่ะ การมีผู้ร่วมคุยด้วยช่วยคลายเครียดสถานการณ์เผชิญหน้าตามลำพังค่ะ แต่ถ้ามากคนก็มากความนะเออ ระวังแล้วกัน


8. ให้เวลาตัดสินใจ
               
ถ้าโชคดีเจรจาสำเร็จเลยในทีเดียวก็เจ๋งไปเลย แต่บางทีการพูดคุยครั้งเดียวที่ยืดเยื้อก็มักไม่เป็นผลดี  ทั้งสองฝ่ายอาจเครียดและอารมณ์ไม่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้นแต่เราควรให้เวลาผู้ปกครองไตร่ตรองคำอธิบายและขอร้องของเราอีกสักวันสองวัน แต่ก็อย่าลืมกำชับเวลาไว้ด้วย เดี๋ยวไม่ทันกำหนดยื่นคณะนะ

          "วันนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะเหนื่อยมากแล้ว อย่างนั้นพรุ่งนี้ลูกค่อยขอรบกวนคุณพ่อคุณแม่หลังกินข้าว ดูสี่อันดับของลูกอีกสักครั้งนะครับ และลูกจะยื่นเลือกคณะวันศุกร์นี้ หากช้ากว่านี้อาจมีปัญหาระบบล่ม ลูกเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จะให้โอกาสลูกเลือกคณะดังที่ลูกอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่ฟังวันนี้นะฮะ ขอบคุณครับ"

         
               
และถ้าอีกวันได้ผลหรือไม่อย่างไร อย่างน้อยเราก็จะเบาใจว่าได้เราเคยได้เปิดใจบอกพ่อแม่ไปแล้วถึงการเลือกของเราค่ะ (มันจะโล่งใจจริงๆ อย่างที่น้องๆ คาดไม่ถึงทีเดียวเชียวล่ะ จริงๆ นะ)




            สุดท้ายแล้ว ถ้าเรามั่นใจแล้วว่าตั้งใจอธิบายอย่างมีเหตุผลที่สุดแล้ว ข้อเสนอก็ยื่นแล้ว ครึ่งก้าวก็ถอยแล้ว เต็มก้าวก็ถอยแล้ว เรื่องยังไม่เป็นไปตามคาด เจรจายังไม่สำเร็จผล ก็อยู่ที่น้องๆ ตัดสินใจแล้วค่ะ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป พ่อแม่ท่านบังคับ เพราะหวังดี (และที่สำคัญท่านดูแลค่าเล่าเรียนเราด้วยเราจะตัดสินใจตามพ่อแม่ หรือจะตัดสินใจแหกคอกขอพิสูจน์ตัวเอง ก็ขอให้คิดดีๆ หาทางรอดให้ได้ และเมื่อทำลงไป ก็ต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลใดๆ ที่ตามมาค่ะ

        ย้ำ!! อย่ากลัวที่จะต้องเปิดใจเจรจากับพ่อแม่ค่ะ น้องๆ อาจทำได้ไม่ครบทุกข้อตามที่พี่เกียรติว่ามาก็ได้ ก็เน้นว่าให้อธิบายอย่างดีที่สุดเท่าที่สถานการณ์ตอนนั้นเอื้ออำนวยก็ได้ค่ะ แค่เราตั้งใจรับประกันว่าพ่อแม่ต้องรับฟังเราแน่นอนค่ะ และไม่ว่าเราจะตัดสินใจเลือกคณะ/จัดอันดับอย่างไร เราก็ต้องเดินหน้าต่อไปให้ดีที่สุดค่ะ

      
อย่างไรก็เลือกหนทางที่ซื่อสัตย์กับตัวเองที่สุด แต่ก็ทำให้คนที่เรารักและรักเราเสียใจน้อยที่สุดนะคะ แอดมิชชั่นยังไม่ใช่ที่สิ้นสุดของการเรียนทั้งหมดค่ะ พี่เกียรติขอให้ชาว Dek-Dทุกคนสมหวังตามที่ปรารถนาจ้า



            ติดตามแนะกันให้ติดชัวร์ ตอนต่างๆ คลิกที่นี่




Credits ขอบคุณข้อมูล : www.dek-d.com ครับ 

มาพูดคุยสนทนา Follow มาได้นะครับ 

Twitter

























@Kanaz000 or https://twitter.com/Kanaz000 ครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น